หลังจากที่คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ได้ละสังขารไปแล้ว ทุกๆ คืน ที่บริเวณหน้าเรือนทองของท่าน ณ สภาธรรมกายสากล
หลังพิธีสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลให้คุณยายเสร็จแล้ว จะมีพระอาจารย์ขึ้นแสดงธรรมเรื่องคุณธรรมของคุณยาย โดยขึ้นแสดงธรรมวันละ ๑ รูป ซึ่งแต่ละรูปท่านก็จะมีความประทับใจในคุณยาย ผู้เป็นครูบาอาจารย์
แตกต่างกันไปบ้างหรือเหมือนกันบ้าง ทำให้ผู้เขียน ได้รับความรู้ มากมายนำมาเป็นแบบอย่าง ในการฝึกฝนตนเอง โดยมีคุณยายเป็นต้นแบบได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงความโชคดีของตัวเองที่ได้มีโอกาสฟังธรรมเช่นนี้
จึงนึกปรารถนาให้ผู้อื่น ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ และนำไปเป็นแบบอย่างในการฝึกตัวเช่นที่ตัวเองได้รับบ้าง คอลัมน์นี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยในฉบับนี้คือ การแสดงธรรม ของ พระครูวินัยธร ไพบูลย์ ธมฺมวิปุโล
วันนี้เป็นงานบำเพ็ญกุศลภาคค่ำ เป็นวันที่ ๔ ใน ๓ วันที่ผ่านมา บางท่านคงไม่ได้มาร่วมงานบำเพ็ญกุศล มีพระอาจารย์มาแสดงธรรมเพื่อบูชาคุณครูบาอาจารย์
มีในแง่มุมต่างๆ ซึ่งแต่ละรูปมีความประทับใจ ในครูบาอาจารย์ที่แตกต่างกันไป อาตมาขอโอกาสในเบื้องต้น ได้สรุปถึงสิ่งที่พระอาจารย์ ได้แสดงธรรมเมื่อ ๓ วันที่ผ่านมา
ในคืนวันจันทร์ พระอาจารย์วิษณุ ปัญญาทีโป ได้กล่าวถึง กุศโลบายในการฝึกคนของคุณยายอาจารย์ โดยมีสาระสำคัญ ๓ เรื่อง คือ
เรื่องแรก คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตนของคุณยายอาจารย์
พวกเราที่มาทันคุณยายอาจารย์ เมื่อครั้งที่ท่านยังแข็งแรงอยู่ก็จะทราบว่า แม้ท่านมีคุณธรรมสูง เป็นครูบาอาจารย์ของเรา แต่เห็นใครเข้ามาวัด ท่านจะยกมือไหว้ก่อน เหตุผลประการหนึ่งที่ให้กับลูกศิษย์ไว้คือ คนที่มาวัดครั้งแรก
เห็นคุณยายก็ไม่รู้เป็นใคร กลัวเขาจะได้บาปที่นึกไม่ดีกับคุณยาย ท่านก็ไหว้เขาก่อน พอคุณยายไหว้เขาก่อน การสร้างความรู้สึกคุ้นเคยก็เกิดขึ้นได้ง่าย เขามาวัดใหม่ได้รับการต้อนรับอย่างดี ก็ไม่รู้สึกเคอะเขิน แล้วครั้งต่อไปที่มาวัด
เมื่อรู้จักว่าคุณยายเป็นใคร ทุกคนก็จะตั้งสติให้ดี ถ้าเห็นคุณยายทุกคนจะรีบไหว้ก่อน เพราะเกรงว่าคุณยายจะไหว้ก่อน ประเพณีการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงเกิดขึ้นเป็นประเพณีของวัดพระธรรมกายมาถึงปัจจุบัน
เรื่องที่สอง คือ ความสะอาด
คุณยายท่านสอนอุบาสกทุกคนก่อนบวช โดยเฉพาะถึงกับเป็นประเพณีและคุณสมบัติที่เรารู้กันว่า อุบาสกคนใดที่มาอยู่วัดพระธรรมกาย ถ้ายังขัดห้องน้ำไม่เป็น ขัดสุขพิมานไม่สะอาด ก็ยังไม่มีการเสนอชื่อให้บวช
เรื่องที่สาม คือ ระเบียบวินัย
ระเบียบวินัยที่คุณยายอาจารย์มองการณ์ไกล และได้ตั้งระเบียบวินัยเป็นการป้องกันการกระทบกระทั่ง และเป็นแนวปฏิบัติเพื่อรองรับการขยายของหมู่คณะ ไว้ ๑๐ ข้อ ในวัด ซึ่งสลักไว้ที่ผนังคอนกรีตที่อาคารดาวดึงส์
นี่เป็นวันแรกของภาพรวมที่พระอาจารย์ท่านประทับใจในส่วนที่ท่านเห็นคุณธรรมของคุณยายอาจารย์
คืนที่สอง วันอังคาร พระอาจารย์ปลัดสุธรรม สุธัมโม ได้กล่าวถึงการบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุดของชีวิต โดยเฉพาะคุณยายอาจารย์ของเรา
ท่านเล่าประวัติของท่านก่อนที่จะมาพบคุณยายอาจารย์ และสิ่งที่ประทับใจมาก คือท่านได้มาพบคุณยายอาจารย์แล้ว ไม่ได้ปริปากพูดถึงประวัติของท่านเลย
แต่คุณยายก็สามารถพูดประวัติของท่านได้ ท่านมีศรัทธาที่ตั้งใจจะมาช่วยงานพระพุทธศาสนา ช่วยงานหมู่คณะ และก็สามารถเข้ามาร่วมสร้างบารมีกับหมู่คณะได้ นี่คือจุดที่ท่านได้เล่าเอาไว้
ประการสุดท้าย สิ่งที่ท่านเล่าเอาไว้คือสิ่งที่คุณยายท่านไม่ชอบมาก ๒ เรื่อง คือ
ประการที่ ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ในการอยู่รวมกัน
ประการที่ ๒ เมื่อเรียนธรรมะแล้ว ใครเอาไปทำเลอะๆ เทอะๆ คุณยายอาจารย์ไม่ชอบมาก
มาถึงเมื่อวานนี้ พระอาจารย์ณรงค์ ทันตจิตโต ได้เปรียบเทียบคุณยายกับพระเจดีย์ เอาไว้ ๕ ประการ
ประการแรก พระเจดีย์นั้นอยู่ใกล้ อยู่ไกลก็เห็น ท่านเปรียบกับคุณยายว่า ไม่ว่ากัลยาณมิตรจะอยู่ใกล้หรือไกลคุณยาย ก็ได้คุณยายเป็นที่พึ่ง
ประการที่ ๒ พระเจดีย์นั้นมีความมั่นคง
เสมือนดังจิตใจของคุณยายอาจารย์ของเราที่มีความหนักแน่นมั่นคง
ประการที่ ๓ พระเจดีย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชา ประดุจดังคุณธรรมของคุณยายอาจารย์ของเรา ที่ถึงพร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาประการที่ ๔ พระเจดีย์บางองค์ในอดีต จำลองเอาจักรวาลมาไว้ในรูปทรงของพระเจดีย์
คุณยายอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน ท่านเก็บเอาความรู้ของจักรวาลเอาไว้ในกายของท่านประการที่ ๕ พระเจดีย์บรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายไว้ภายใน ทั้งพระบรมสารีริกธาตุ พระธรรม เช่นเดียวกับคุณยายอาจารย์
ตั้งแต่บรรลุธรรมได้ทำวิชชากับพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กายของท่านก็บรรจุเอาพระรัตนตรัย บรรจุเอาพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน นี่คือสิ่งที่พระอาจารย์ได้มีความประทับใจ ได้ขยายเรื่องต่างๆ ที่ท่านได้ไตร่ตรองคุณของคุณยายอาจารย์เทียบกับพระเจดีย์
วันนี้อาตมามีสิ่งที่ประทับใจโดยสรุปอยู่ ๒ อย่างที่จะกล่าวถึง ซึ่งเป็น ๒ อย่างที่ทำให้อาตมาประคับประคองตัวเอง และรักที่จะอยู่กับหมู่คณะ มาได้ถึงวันนี้
สองประการนั้น คือ ปณิธานอันยิ่งใหญ่ของคุณยายอาจารย์ และความโชคดีของเราที่ได้เป็นลูกหลานอยู่ในวงบุญของคุณยายอาจารย์
ในวัฏฏสงสารอันยาวไกล การเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง ในแต่ละกัปนั้นจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นก็ไม่เกิน ๕ พระองค์ ซึ่งในกัปนี้ถือว่าเป็นกัปที่เจริญที่สุด
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้ว ๔ พระองค์ ที่พึ่งผ่านเราไปเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี เป็นพระองค์ที่ ๔ คือ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีคำกล่าวเอาไว้ พระไตรปิฎก อรรถกถา ส่งเสริมคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร ซึ่งเป็นผู้มีปัญญามาก
เป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งเอาไว้ให้เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา เปรียบเสมือนพระธรรมเสนาบดี สถานที่ใดที่พระสารีบุตรเดินทางไปแสดงธรรม ก็เหมือนที่พระองค์เสด็จไป
ถึงแม้ว่าพระสารีบุตรจะมีปัญญามาก เมื่อพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากสิ่งที่ได้รู้ได้เห็น ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนแม่น้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำท่วมล้น มีปริมาณมาก กว้างถึง ๑๘โยชน์ ( ๑โยชน์ เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร)
มีบุรุษคนหนึ่งเอาก้นเข็ม จุ่มลงไปในน้ำเพื่อที่จะตักน้ำนั้นขึ้นมา น้ำที่ติดรูเข็มขึ้นมานั้นมีส่วนน้อย แต่น้ำที่ไหลท่วมล้นไปมีปริมาณมากฉันใด พระพุทธคุณที่พระสารีบุตรสามารถที่จะนำมากล่าวมาสรรเสริญตามที่ท่านได้รู้ได้เห็น ก็มีปริมาณเพียงน้ำที่ติดรูก้นเข็มฉันนั้น
บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เอามือจับฝุ่นนั้นขึ้นมา ฝุ่นนั้นมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับฝุ่นในแผ่นดินฉันใด พระพุทธคุณที่พระสารีบุตรสามารถรู้เห็น และนำมาสรรเสริญได้ ก็เป็นเพียงฝุ่นในกำมือเท่านั้น
นิ้วที่ชี้ไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ นิ้วที่ชี้ไปในนภากาศ ตรงไหนที่นิ้วชี้ไปถึงน้ำในมหาสมุทร ถึงอากาศในนภากาศ ส่วนที่นิ้วชี้ถูกเมื่อเทียบกับส่วนที่นิ้วชี้ไม่ถูกแล้ว ส่วนที่นิ้วชี้ถูกนั้น มีปริมาณเพียงน้อยนิด ฉันใด พระพุทธคุณที่พระสารีบุตรรู้เห็นนั้นมีเพียงปริมาณน้อยนิดฉันนั้น
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จะตรัสสรรเสริญพรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเป็นกัป กัปนั้นล่วงไปแล้ว หมดไปแล้ว แต่พระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่จบสิ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาพระโพธิญาณ จะต้องบำเพ็ญบารมีอย่างยาวนานทีเดียว อย่างน้อยที่สุดก็ ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป
คือตั้งความปรารถนาในใจ ๗ อสงไขย สร้างบารมีแล้วเปล่งวาจาตั้งความปรารถนาให้มหาชนได้ทราบอีก ๙ อสงไขย หลังจากที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนแล้ว อีก ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป
พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงต้องอาศัยความเพียรอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน พระองค์จะต้องสละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิตเพื่อแลกเอาการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ มีทานบารมีเป็นต้น
และความปรารถนาที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่พระนิพพานนั้น จะต้องไม่เลือนลางไปจากหัวใจของท่าน ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งความปรารถนา จนกระทั่งเมื่อพระองค์บรรลุพระโพธิญาณ
แต่หากจะมีใครสักคนหนึ่งมีหัวใจเยี่ยงพระโพธิสัตว์ มีความปรารถนาที่จะพาสรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล เข้าสู่พระนิพพานให้หมดสิ้นไม่มีเหลือเลย
แม้มโนรถของบุคคลนั้นจะยังไม่สำเร็จลุล่วง เราควรจะตั้งท่านนั้นไว้ในฐานะใด ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาลนี้ จะมีสักกี่คนที่ตั้งความปรารถนาที่จะปราบพญามารให้หมดสิ้น
หนึ่งในบุคคลนั้นอันหาได้ยากยิ่ง ท่านประดิษฐานอยู่ในเรือนทองข้างหน้าของพวกเราทั้งหลาย ร่างๆ เล็กของคุณยายที่เก็บดวงใจอันยิ่งใหญ่ไว้นี้ เป็นเสมือนเมล็ดโพธิ์ เมล็ดเล็กๆ แต่ได้เก็บความยิ่งใหญ่ไว้ภายใน
ทำอย่างไร เราจึงจะได้ติดตามสร้างบารมี อยู่ในวงบุญของท่านไปทุกภพทุกชาติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเหตุเกิดความรักและความผูกพันไว้ ๒ ประการ
เหตุให้เกิดความรักประการแรก คือ ความเป็นผู้คุ้นเคยกันมาในอดีต เคยอยู่ร่วมกันมา เคยสร้างความดี สร้างบุญร่วมกันมาประการที่ ๒ เคยเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ก็เป็นเหตุให้เกิดความรักและความผูกพันกันได้
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จบิณฑบาต พราหมณ์เฒ่าผู้หนึ่งได้เข้ามากอดพระบาทของพระองค์ แล้วกล่าวว่า ลูกไปไหนมา ๆ เรียกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นลูก พระอานนท์และประชาชนทั้งหลายที่เห็นเหตุการณ์อยู่
ต่างก็ทราบว่าพระพุทธบิดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองอยู่เมืองกบิลพัสดุ์ ไม่ใช่พราหมณ์เฒ่าผู้นี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นเลิศ ก็เสด็จตามคำอาราธนาของพราหมณ์ไปที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านแล้ว
พราหมณ์เรียกนางพราหมณีออกมาพบลูกของตัวเอง นางพราหมณีเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ร้องไห้ด้วยความปีติ แล้วก็กล่าวว่า ลูกไปไหนมา
ทำไมไม่มาดูพ่อกับแม่ที่ชราภาพมากแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสอง จบพระธรรมเทศนา ทั้งสองก็ได้บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคล แล้วท่านก็ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายผู้สงสัยว่าพราหมณ์นั้นเรียกพระองค์ว่าเป็นบุตรได้อย่างไร
พราหมณ์ทั้ง ๒ นี้ เคยเกิดเป็นพ่อเป็นแม่ของพระองค์มาถึง ๕๐๐ ชาติ เคยเกิดเป็นอาเป็นน้า ๕๐๐ ชาติ เคยเกิดเป็นปู่ย่าของพระองค์ในอดีตถึง ๕๐๐ ชาติ พระองค์ตรัสว่า
เราเจริญเติบโตของพราหมณ์ทั้ง ๒ นี้ ตลอด ๑,๕๐๐ ชาติ ติดต่อเนื่องกันไม่ขาดเลย ความรัก ความผูกพัน ความคุ้นเคย จึงทำให้พราหมณ์ทั้ง ๒ เรียกพระองค์ว่าเป็นบุตร
ท่านทั้งหลาย พวกเราทั้งหลาย มีโชคอันมหาศาลที่มีโอกาสมาสร้างบุญร่วมกับคุณยายอาจารย์ ตั้งแต่ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
เคยเล่าให้ฟังว่า คุณยายเคยสอนเอาไว้ว่า ถ้ารักใครแล้วให้ชวนเขามาทำบุญ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ลุงป้าน้าอา เพื่อนสนิทมิตรสหาย ก็ขอให้ชวนเขามาทำบุญร่วมกัน
ถ้าเราไม่ชวนเขามาทำบุญร่วมกัน ก็ไม่มีบุญที่จะผูกพันกันต่อไป ก็จะเริ่มห่างกันไปเรื่อย ๆ จากคืบเป็นศอก จากศอกเป็นวา จากวาเป็นโยชน์ แล้วก็ห่างกันไปเรื่อยๆ
จึงเป็นโอกาสดีของพวกเราทั้งหลาย ที่มาร่วมบุญกับคุณยาย
http://www.dhammakaya.net/blog/2011/01/27
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจตามลิงค์ค่ะ
https://www.facebook.com/pk.arak113/videos/1803452219869378/